อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
แหล่งท่องเที่ยว
ประวัติตำบลปกาสัย

 

ประวัติความเป็นมาของตำบลปกาสัย

            ตามประวัติกล่าวว่าเมืองกระบี่แต่เดิมเรียกว่า เมืองกาไสหรือ ปกาไสเป็นแขวงเมืองขึ้นตรงต่อเมืองนครศรีธรรมราช แขวงเมืองกาไสเกิดเป็นชุมชนขึ้นโดยเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช โดยพระปลัดเมืองมาตั้งเพนียดจับช้างเพื่อส่งไปนครศรีธรรมราช กระบี่สมัยนั้นยังเป็นป่าทึบอุดมด้วยสัตว์ป่านาๆพันธ์ การตั้งเพนียดจับช้างนี้ประมาณการว่าคงเป็นปลายรัชกาลที่ 2 แห่ง กรุงรัตนโกสินธุ์ตรงกับสมัยเจ้าพระยานคร(น้อย) เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงมากในการต่อเรือขนาดใหญ่เพื่อส่งช้างไปขายถึงต่างประเทศ โดยใช้ท่าเรือที่ปรากฏร่องรอยคือสะพานช้างปากคลองปกาไส เส้นทางนี้รู้จักในนาม เส้นทางเจ้าพระยานครค้าช้าง

            เนื่องจากสมัยก่อนเราใช้เส้นทางลำน้ำนี้เป็นสำคัญ ทุกปากน้ำจึงมีด่านของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้ามาตั้งอยู่นอกจากเก็บภาษีสินค้าและยังทำหน้าที่เป็นกองแวดระวังอันตรายจากภายนอกที่ผ่านเข้ามาอีกด้วย ในจดหมายเหตุ ร.2 จ.ศ. 1173 ปรากฏชื่อตำแหน่งขุนนาง ภายใต้กำกับของเมืองนครศรีธรรมราชำหน้าที่รักษาด่านปากน้ำปกาไส ความว่า

  • ขุนวินิจเป็นนายด่านถือนา 400
  • ขุนทิพย์ปลัดด่านถือนา 300
  • หมื่นวิชิต หมื่นเพชร หมื่นมานะ หมื่นอาจ เป็นกองลาดถือนา 200

            ปกาไสเป็นชื่อเมืองที่ปลัดนครศรีธรรมราช ตั้งเพนียดจับข้าง มีการเขียนกันหลายแบบ เช่น ปกาไส ปกาไสย กาสัย ในบันทึกเขียนว่า เมืองไสบ้าง กาไส”  บ้าง ชาวบ้านเรียกว่า กาไสมีผู้ให้ความหมายไว้หลายนัยดังนี้

            (ก) ปกา ปากา แปลว่า ดาบปกาไสหรือปากาไส แปลว่า แหล่งเมืองดาบหรือกระบี่ นั่นเอง

            (ข) ตำนานชาวบ้านเล่าว่า สมัยพญาศรีธรรมโศกราช บูรณะพระบรมธาตุเสร็จใหม่ ๆ ได้มีฝูงกาเข้ามาอยู่อาศัยในป่าใหญ่แห่งหนึ่งคือบ้านปกา ในเวลาต่อมานั้นเอง คำว่า ไสแปลว่าแหล่ง ที่หักร้างถางพงลงทำกินคำว่า กาไสจึงแลว่า แหล่งกาถิ่นของกา ชาวบ้านยังเล่าว่าเมืองกระบี่แต่เดิมมีฝูงแร้งกาเป็นอันมากอีกด้วย เมืองกาไสหรือปกาสัย มีลายแทงเล่ามาด้วยว่า                  เมืองกาไส            มีไทรรากปรก

                                    มีอ่าวท้องครก       หาดกวางดีดติ้ง

                                    ผู้หญิงแขวนปิ้ง      ดีดติ้งตามกวาง

                ดินแดนบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ภูเขาและสัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างมีชุกชุมมาก ถึงกับเจ้าพระยานครศรีธรรมราชทุกสมัย ได้ส่งคนมาตั้งเพนียดจับช้างไปฝึกใช้งาน ในสมัยเจ้าพระยานคร (น้อย) ถึงกับต่อเรือสินค้าขนาดใหญ่จับช้างส่งไปขายถึงต่างประเทศโดยลงเรือที่ท่าเรือเมืองตรังและท่าเรืออื่น ๆ ที่ปรากฏร่องรอยสะพานช้าง เช่น คลองท่อม คลองปกาสัย เป็นต้น เส้นทางเหล่านี้ล้วนรู้จักกันในนาม เส้นทางเจ้าพระยานครช้าง ทั้งสิ้น

            การบุกเบิกช้างป่าไปฝึกใช้งานส่งไปขายนี้มีมาอย่างต่อเนื่อง ตามประวัติเมืองกล่าวว่า พระปลัดเมืองนครศรีธรรมราช ได้มาตั้งเพนียดช้างที่ปกาไส ผู้คนได้อพยพติดตามเข้ามาตั้งหลักทำมาหากินมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนและพัฒนามาเป็นเมืองในที่สุด แหล่งชุมชนที่สำคัญที่ปลัดเมืองจัดตั้งเขตปกครองในขณะนั้น ซึ่งเรียกว่า แขวงคือ

  • แขวงปกาไส คือ บริเวณค่ายจับช้างที่ปากคลองปกาไส
  • แขวงคลองพน ตั้งอยู่ริมบ้านคลองพน
  • แขวงปากลาว ตั้งอยู่ริมคลองปากลาว

ปรากฏชื่อทำเนียบข้าราชหัวหน้าแขวงครั้งแรก ดังนี้

            1. นายภู่ ภรรยาชื่อ นางช่วย น้องสาวชื่อ นางปราง หัวหน้าแขวงปกาไส

            2. นายแสง  ภรรยาชื่อ นางอบ           หัวหน้าแขวงปากลาว

            3. นายโชติ  ภรรยาชื่อ นางพัน           หัวหน้าแขวงคลองพน

ต่อมาแขวงเมืองปกาไสมีความเจริญผู้คนมากขึ้น ลำคลองก็ค่อนข้างคับแคบ พระปลัดเมืองให้ย้ายที่ทำการมาตั้งที่บ้านหินขวางปากคลองกระบี่ใหญ่ ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองกระบี่ในปี พ.ศ. 2415 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีหลวงเทพเสนา เป็นเจ้าเมืองคนแรกขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาในปี พ.ศ. 2418 โปรดให้เมืองกระบี่ เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร

.

 

            สถานที่สำคัญที่มีขึ้นในแขวงปกาไสสมัยนั้นคือ

                        1. บ้านนาหลวง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลปกาสัย กิ่งอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่เป็นชื่อบ้านในตำบลปกาสัย ใกล้ค่ายเพนียดจับช้างของ พระปลัดเมือง ดังกล่าวมาแล้ว เดิมเป็นที่มาสำหรับชาวค่ายปกาไสนั้นเอง คงเป็นที่ได้รับตามศักดินาในสมัยนั้น เป็นแหล่งผลิตข้าวเลี้ยงชาวค่ายจึงเรียกว่า นาหลาว

                                2. ควนทำเนียบ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 1 ตำบลปกาสัย กิ่งอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ปัจจุบันเป็นที่อยู่ของชาวบ้าน แต่ยังมีร่องรอยบางประการให้เป็นที่สังเกต เช่น บริเวณที่ตั้งทำการยังเรียกว่า ควนทำเนียบหน้าค่ายเดิมมีต้นมะม่วง 3 ต้น ในที่ดินของชาวบ้าน

                        3. สะพานช้าง ตั้งอยู่บริเวณคลองหวายเล็ก หมู่ที่ 6 ตำบลคลองขนาน กิ่งอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เป็นบริเวณที่พลทหารในสมัยนั้นจับช้างพาไปลงเรือไปค้าขายยังต่าง ๆ ประเทศ ปัจจุบันสะพานช้างแห่งนี้ยังมีให้เห็นร่องรอยของสะพานอยู่

                        4. ควนค่าย ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลปกาสัย กิ่งอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่     

                    5. ท่าหัวเรือใหญ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลปกาสัย กิ่งอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ตามคำเล่ากล่าว สถานที่บริเวณนี้เป็นที่จอดเรือของทหาร พ่อค้า และพวกช่าง เพื่อนำเอาวัสดุไปซ่อมแซมพระบรมธาตุ ที่เมืองนครศรีธรรมราช ตามคำบอกเล่าของ นายปุ่น จิ้วเจือ และนางหลิว เอ่งฉ้วน ราษฎรที่มีบ้านอยู่ใกล้หัวเรือใหญ่ กล่าวว่าเมื่อตอนยังเป็นเด็กลงไปอาบน้ำ เล่นน้ำ ได้พบหัวเรือใหญ่ติดต่อกับตลิ่งเป็นตำนวน 3 ลำ และได้พบวัสดุชิ้นหนึ่ง ลักษณะเป็นแท่งสามเหลี่ยม และด้านบนมีลวดลายแบบต่าง ๆจำนวนหลายก้อนและได้นำขึ้นมาเก็บไว้จนถึงปัจจุบัน โดยเรียกว่า เงินยวง ปัจจุบัน กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาแขวงปกาไสร่วมกับชาวปกาสัยได้ทำการสำรวจขุดหัวเรือใหญ่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2536 ตามคำบอกเล่า เมื่อทำการขุดก็ได้ค้นพบชิ้นส่วนของเรือ เป็นส่วนท้ายของลำเรือ ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดปกาสัย ส่วนที่เหลือไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะขาดเครื่องจักรในการทำงาน

.

            ปัจจุบันตำบลปกาสัย มีลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบค่อยข้างสูง อยู่ทางตอนกลางและตอนเหนือของตำบล ส่วนที่ราบต่ำอยู่บริเวณทิศตะวันตก และทิศใต้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นพื้นที่ราบต่ำ มีคลองไหลผ่าน คือ คลองแห้ง คลองปกาสัย คลองบางผึ้ง คลองเสียด เป็นแหล่งน้ำใช้ประโยชน์ตลาดปี

.

            คำขัวญตำบลปกาสัย  ปกาสัยเมืองเก่าจังหวัดกระบี่ บารมีหลวงปู่สิงห์ อ้างอิงประวัติศาสตร์ แหล่งประกาศอารธรรม เลิศล้ำเหล่าศิลปิน ท้องถิ่นแห่งภูมิปัญญา

.

          องค์การบริหารส่วนตำบลปกาสัย ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเหนือคลอง ทางทิศตะวันออก ประมาณ 8 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 54 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 33,750 ไร่ 

 

แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ